โดเมนเนมคืออะไร?
โดเมนเนมคืออะไร?? โดเมนเนมก็คือชื่อที่อยู่เว็บไซต์นั่นเองครับ ตัวอย่างเช่น google.com หรือ facebook.com นั่นเอง โดเมนเนมเปรียบเสมือนป้ายบริษัทครับ คนทั่วไปสามารถมาตามพิกัด GPS ได้ หรือจะถามทางคนแถวนั้นก็ได้เพื่อให้มาถูกครับ แต่ถ้ามีป้ายบริษัทคนก็จะเห็นเป็นจุดสังเกตและมาได้ถูกครับ
ส่วนประกอบของโดเมนเนม
โดเมนเนมประกอบด้วย 2 ส่วน ครับคือ
- ชื่อโดเมน ตรงนี้สามารถตั้งเองได้ครับเป็นชื่อที่ต้องการ
- นามสกุลโดเมน ตรงนี้เลือกได้จากหลายร้อยดอทครับ ราคาต่างกันไปตามแต่ละนามสกุล และบางนามสกุลต้องส่งเอกสารครับ
โดเมนจดซ้ำกันในดอทเดียวกันไม่ได้นะครับ ถ้าเทียบกับทะเบียนรถ เช่น ทร 2255 กรุงเทพมหานคร รถที่จดทะเบียนกรุงเทพมหานครก็จะไม่สามารถได้ทะเบียนซ้ำกันได้ครับ แต่จะซ้ำกันได้ถ้าเปลี่ยนจังหวัดครับ อาจเป็น ทร 2255 ระยอง หรือ ทร 2255 แม่ฮ่องสอน แบบนี้ได้ครับ เพราะฉนั้นก็ต้องหาโดเมนเนมที่ไม่ซ้ำกับคนอื่นครับ เวลาจะเลือกจดพิมพ์เข้าไปทางเว็บผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งจะแจ้งให้เองครับว่าซ้ำหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ให้เปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนดอทนะครับ
ราคาทั่วไปและชนิดนามสกุลของโดเมนเนม
โดเมนเนมแบ่งเป็น ระดับ ครับ นำโดย TLD หรือ Top Level Domain ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน จะแบ่งออกเป็นหลายประเภทครับ
Top Level Domain (TLD)
ก็คือ .com .net .org ที่เรารู้จักกันครับ เป็นโดเมนที่ราคามาตรฐานที่สุดและจดได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ ในการจดครับ ปัจจุบันมีมากกว่าพันดอทให้เลือกครับ ราคาก็ต่างกันไป นี่คือตัวอย่างของโดเมน TLD ครับ
นามสกุล | ความหมาย | ราคาตลาด (จด) |
.com | Commercial / Company เหมาะกับบริษัททั่วไป | ~350 บาทไทย (10 USD) |
.net | Network เหมาะกับเว็บที่เป็นเครือข่าย | ~350 บาทไทย (10 USD) |
.org | Organization ส่วนใหญ่องค์กรการกุศลมักจดดอทนี้ | ~350 บาทไทย (10 USD) |
.biz | Business สตาร์ทอัพบางแห่งจดดอทนี้ | ~350 บาทไทย (10 USD) |
.info | Information ให้ข้อมูลต่าง ๆ | ~350 บาทไทย (10 USD) |
.xyz | XYZ เป็นดอทน่ารัก ๆ ไม่มีความหมาย | ~30 บาทไทย (1 USD) |
.club | Club เหมาะสำเร็จเว็บคลับ หรือกลุ่ม ที่ต้องการโดเมนที่แตกต่าง | ~30 บาทไทย (1 USD) |
Country-Code Level Domain (ccTLD)
ดอทนี้ขึ้นตรงกับประเทศครับ แต่ละประเทศจะมี 1 ดอทเป็นของตัวเองตาม Country Code เช่น Thailand จะเป็น .th Japan จะเป็น .jp หรือ New Zealand จะเป็น .nz เป็นต้น
ส่วนใหญ่ดอทนี้จะใช้เอกสารในการจดครับ ส่วนใหญ่จะเป็นการยืนยันตัวตนว่ามีตัวตนจริง หรือเป็นพลเมืองของประเทศนั้นถึงจะจดได้ เป็นต้น
และแต่ละประเทศจะย่อยออกมาขายเป็นโดเมนหลากหลายประเภทครับ เช่นในประเทศไทย จะมีหลากหลายดอทและต้องใช้เอกสารต่างกันไปครับ เช่น
นามสกุล | ความหมาย | ราคาตลาด (จด) |
.in.th | สำหรับบุคคลทั่วไป, หน่วยงาน, หรือองค์กรต่างๆ หากเป็นบริษัทต้องใช้หนังสือรับรองบริษัทในการจด หรือบุคคลทั่วไปต้องส่งสำเนาบัตรฯ หรือ สำเนาใบขับขี่ ในการรับรอง | ~350 บาท |
.co.th | สำหรับการพาณิชย์และธุรกิจ ที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้น โดยชื่อโดเมนต้องสอดคล้องกับชื่อธุรกิจนั้น ๆ ต้องใช้หนังสือรับรองบริษัทในการจด | ~700 บาทไทย |
.go.th | สำหรับการใช้ของภาครัฐบาล เช่น กระทรวงหรือหน่วยงานรัฐบาล ต้องใช้ หนังสือที่ทางหน่วยงานแจ้งชื่อโดเมนเนม .go.th ให้ทาง ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) ของกระทรวง/กรมต้นสังกัด รับทราบ | ~700 บาทไทย |
.ac.th | สำหรับสถาบันการศึกษา ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ต้องใช้หนังสือจัดตั้งโรงเรียน ที่เซ็นรับรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | ~700 บาทไทย |
.mi.th | หนังสือรับรองจากกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย อนุญาตให้หน่วยงานภายใต้สังกัดและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกองบัญชาการกองทัพไทย จดทะเบียนชื่อ โดเมนภายใต้ .mi.th ได้ | ~700 บาทไทย |
ถ้าลืมต่ออายุ ทำยังไง?
โดเมนเนมหลังจากหมดอายุไปแล้ว 29 วัน จะเข้าสู่ขั้นตอนที่เรียกว่า Redemption Grace Period ซึ่งจะ Charge ค่าต่ออายุจากค่าบริการทั่วไปของโดเมนไปหลายเท่าตัว ซึ่ง Redemption Grace Period มีเวลา 30-90 วันขึ้นกับผู้ให้บริการ หลังจากหมดในช่วงนี้ไปแล้ว โดเมนจะจดได้ใหม่อีกครั้งเหมือนโดเมนใหม่และนับเวลาใหม่เลยครับ
ข้อควรคำนึงถึงเมื่อจดโดเมนเนม
- ราคาโดเมนเท่าไหร่ ถูกหรือแพงกว่าท้องตลาด ให้ลอง Search ดูราคาของแต่ละดอทกับหลาย ๆ ผู้ให้บริการก่อนจด
- ผู้ให้บริการเปิดมานานหรือยัง รีวิวเป็นยังไง เราอยู่กับเขาเป็นหลักปีครับ ต้องระวังผู้ให้บริการที่ “ไม่เอาไหน” กล่าวคือเราโทรไปหรือส่ง Ticket ไปแล้วไม่ตอบ หรือไม่ใส่ใจให้บริการเราเวลาขอความช่วยเหลือหรือมีปัญหา หรือหากเราเจอผู้ให้บริการที่ปิดตัวลงไป จะทำให้เดือดร้อนครับ จะเสียเวลาจดโดเมนเนมใหม่
- อย่าหลงเชื่อโปรโมชั่นราคาถูกกว่าราคาตลาดจัด ให้อ่านเงื่อนไขการให้บริการ และเงื่อนไขราคาการต่ออายุ ตรงนี้สำคัญมากครับ ผมเคยจดโดเมน .com กับเจ้าต่างประเทศเจ้าหนึ่งในราคา 0.99$ แต่ไม่ได้อ่านเงื่อนไข อีกปีนึงมันชาร์จค่าต่ออายุผมไป 50$ ผ่านบัตรเครดิตของผมครับ ต้องระวังให้ดี
วิธีการจดโดเมนเนม
วิธีการจดโดเมน ไม่ยากเลยครับ ทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ครับ
1. เลือกชื่อโดเมนเนม
เลือกชื่อโดเมนเนมเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากครับ เพราะถ้าเลือกที่จะไปจดโดเมนแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้ครับ หากต้องการเปลี่ยนก็ต้องจดใหม่ครับ เสียเงินเพิ่มเติมเหมือนเป็นอีกชื่อหนึ่ง ผมมีเทคนิคดังนี้ครับ
- .com เสมอ เพราะถ้าคุณนึกดอทอะไรไม่ออก คุณคิดถึงดอทอะไรครับ… ผู้ชมเว็บก็คิดถึงดอทนั้นเหมือนกัน
- ถ้าโดเมนมีเรื่องของภาษาอังกฤษที่เป็นพหุพจน์เข้ามาเกี่ยวด้วย ให้ระวัง เช่น คำนั้นมีการเติม s ด้วย ผู้ชมอาจไม่รู้ว่าต้องเติมหรือไม่ต้องเติม ให้จดเป็น 2 โดเมนแล้ว Redirect อันหนึ่งมาที่อันที่ต้องการ
- ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Resellerspanel เว็บไซต์ให้บริการจดโดเมนและเว็บโฮสติ้งเจ้าหนึ่งของต่างประเทศ จดชื่อ resellerspanel.com และ resellerpanel.com เพื่อกันคนไม่รู้ว่าต้องเติม s หรือเปล่า
- สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ ยิ่งยาวคนยิ่งจำไม่ได้ หรือขี้เกียจพิมพ์นะครับ
- พยายามอย่าให้มี – ขั้นกลางหรือมีตัวเลข เพื่อป้องกันความสับสน
2. หาสถานที่จดโดเมนที่เชื่อถือได้
ธรรมชาติของโดเมนครับ คุณจะอยู่กับเขา “เป็นปี” ถ้าอยู่ ๆ วันหนึ่งเขาปิดให้บริการไปหรือติดต่อไม่ได้ คนที่เดือดร้อนคือเจ้าของโดเมนครับ ไม่สามารถต่ออายุได้บ้าง เข้าไปตั้งค่า DNS ไม่ได้บ้าง ตรงนี้ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงกับเว็บไซต์ครับ ผู้ให้บริการที่ผมแนะนำมีดังนี้ครับ
Namecheap.com (ต่างประเทศ)
โดเมนทุกโดเมนที่ผมจดอยู่กับเจ้านี้ทั้งหมดครับ ระบบจัดการใช้งานง่าย มีความปลอดภัยสูง ที่สำคัญคือ Customer Support ดีมาก ๆ ครับ ผมแนะนำเลย
เช่นเดียวกับ Namecheap.com เว็บโฮสติ้งของผมทุกเว็บไซต์เช่าอยู่ที่นี่ครับ ระบบจัดการใช้งานได้ มีความปลอดภัยสูง Customer Support ระดับ 5 ดาว (พูดจริง ๆ ครับ) แต่สำหรับใครที่อยากเช่าทั้งเว็บโฮสติ้งและโดเมนเนม และออกบิลเป็นบิลเดียว เช่าที่นี่ได้เลยครับ
3. เช็คดูว่าโดเมนว่าหรือเปล่า และดำเนินการจดโดเมน
ถ้าไม่ซ้ำ และเลือกที่จะจดโดเมนนี้ คลิกต่อไปได้เลยครับ หลังจากนั้นผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งจะขอข้อมูลส่วนตัว หากเป็นโดเมนเนม .com .net .org ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารจด แต่ถ้าเป็น .th จะต้องใช้ต่างกันไปตามนามสกุลครับ หลังจากกรอกข้อมูลส่วนตัวครบแล้ว ก็ชำระเงินได้เลย
4. ยืนยันโดเมนเนม
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ได้หลายปีแล้วครับ คือการยืนยันตัวตนเจ้าของโดเมนเนม ง่าย ๆ เพียงแค่คลิกลิ้งค์ในอีเมลที่ใช้ในการจดโดเมน เป็นการยืนยันสำเร็จครับ หน้าตาของอีเมลจะออกมาคล้าย ๆ แบบนี้ครับ
หากหาไม่เจอ หัวข้อของโดเมนให้เซิร์ชว่า
IMPORTANT! Verify your contact information for [ชื่อโดเมนของคุณ]
เท่านั้นเป็นอันเสร็จสิ้นครับ ยินดีด้วยครับคุณมีโดเมนเนมอันนึงมาใช้งานแล้วครับ ปีหน้าหรือหมดรอบบิลอย่าลืมต่ออายุนะครับ