การทำเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะต้องอาศัยฝีมือของบริษัททำเว็บไซต์ที่มีประสบการณ์แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือการเตรียมข้อมูลของเจ้าของเว็บไซต์เอง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เตรียมเนื้อหา ไปจนถึงข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้การทำเว็บไซต์เป็นไปอย่างราบรื่นและได้ผลลัพธ์ตรงตามที่ต้องการครับ ในบทความนี้ผมจะสรุปเนื้อหาและข้อมูลที่ต้องเตรียมสำหรับทำเว็บ จนไปถึงขั้นตอนหลังจากการส่งมอบงานแล้วมาแชร์กัน จากประสบการณ์การทำเว็บของผมครับ


ภาพรวมเว็บไซต์

ก่อนเริ่มวางแผนจ้างทำเว็บไซต์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือการวางแผนภาพรวมของเว็บไซต์ ได้แก่

  • เป้าหมายโปรเจคเว็บไซต์: ต้องกำหนดวัตถุประสงค์หลักให้ชัดเจน เช่น เพิ่มยอดขาย เป็นเว็บไซต์โปรไฟล์บริษัทออนไลน์ สำหรับแสดงผลงาน เป็นต้น
  • กลุ่มเป้าหมาย: ระบุและอธิบายลักษณะของผู้ใช้หลัก ทั้งข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย อายุ เพศ ความสนใจ และพฤติกรรมการใช้งาน
  • ขอบเขตงาน: ระบุฟีเจอร์และฟังก์ชันที่ต้องการ เช่น ระบบอีคอมเมิร์ซขายของออนไลน์ ฟอร์มติดต่อ ระบบบทความ ระบบบัญชีผู้ใช้ เป็นต้น
  • งบประมาณ: กำหนดช่วงงบประมาณเพื่อให้บริษัททำเว็บไซต์เสนอโซลูชันที่เหมาะสม
  • ระยะเวลา: แจ้งไทม์ไลน์ของเว็บไซต์ที่ต้องการ และวันที่ Launch เว็บไซต์เพื่อให้ผู้พัฒนาสามารถดำเนินการได้ทันความต้องการ

เนื้อหาและแบรนด์

องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนในการทำเว็บไซต์คือเนื้อหาและแบรนด์ สิ่งที่ต้องเตรียมได้แก่

  • ข้อมูลเนื้อหา: รวบรวมเนื้อหาที่มีอยู่แล้ว ทั้งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และสื่ออื่นๆ ที่จะใช้ในเว็บไซต์
    • คำแนะนำ: สามารถอัพโหลดไว้ใน Cloud เช่น Google Drive หรือส่งผ่านอีเมล เพื่อความสะดวกในการแชร์ไฟล์
    • รูปภาพ: ไม่ควร Copy รูปภาพจาก Google มามั่ว ๆ เด็ดขาด เนื่องจากอาจโดนเรื่องลิขสิทธิ์ได้ หากต้องการใช้ภาพกรุณาเลือกภาพจากเว็บไซต์ Stock เช่น iStock, Shutterstock หรือของฟรีอย่างเช่น Unsplash เป็นต้น
  • วางแผนจัดทำเนื้อหาที่ยังไม่มี: วางแผนเนื้อหาใหม่ที่ต้องสร้างเพิ่มเติม เช่นเขียนบทความ ถ่ายภาพใหม่ หรือออกแบบกราฟฟิคบางส่วนใหม่ เป็นต้น
    • ทั้งสองส่วนนี้ สามารถปรึกษากับทีมพัฒนาก่อนได้ว่าเนื้อหาที่มี มีแล้วเท่าไหร่บ้างและต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง เพื่อวางแผนคร่าว ๆ ก่อนเปิดงาน
  • Branding Guideline: จัดเตรียม Brand Identity/Corporate Identity เพื่อเป็น Reference ตั้งแต่โลโก้ รูปแบบสี ฟอนต์ และองค์ประกอบดีไซน์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการออกแบบเว็บไซต์ให้มี Identity เดียวกับบริษัทหรือแบรนดิ้งที่ทำไว้
  • ตัวอย่างและข้อควรเลี่ยง: หาตัวอย่างเว็บไซต์ที่ชื่นชอบและไม่ชอบ พร้อมอธิบายเหตุผล เพื่อเป็นไอเดียให้ทีมพัฒนา
  • Flow การทำงานของเว็บไซต์: อธิบายข้อกำหนดด้านประสบการณ์ผู้ใช้ เช่น การนำทางในเว็บไซต์ การไหลของผู้ใช้ และคุณสมบัติการเข้าถึง

เทคโนโลยีในการทำเว็บไซต์

ในแง่ของข้อมูลทางเทคนิค สิ่งที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องการทำเว็บไซต์ ได้แก่

  • การเลือกแพลตฟอร์ม: ระบุแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีที่ต้องการ เช่น WordPress, Shopify, React หรือพัฒนาเอง
    • หากต้องการทำเว็บไซต์บริษัท เว็บไซต์องค์กร หรือเว็บไซต์ขายของ E-Commerce ที่สเกลไม่ใหญ่มาก สามารถเลือก WordPress มาเป็นตัวเลือกหลักในการพัฒนาได้ คลิกอ่านบทความ WordPress คืออะไร
    • หากต้องการเว็บไซต์ที่มีระบบซับซ้อนและเน้นความเร็วสูง หรือรับ Load มากๆ พิจารณาพัฒนาใหม่โดยใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าเช่น React ได้ครับ
    • หากในส่วนนี้ไม่มั่นใจ ให้ลองหาคนที่มีความรู้ด้านนี้ช่วยคุยด้านเทคนิคกับคนทำอีกทีได้ครับผม ผู้ให้บริการ
  • ฟังก์ชันในเว็บไซต์: ระบุความต้องการเฉพาะหากมี เช่น การเชื่อมต่อกับระบบอื่น (API) หรือเชื่อมต่อระบบ Payment Gateway เป็นต้น ส่วนนี้หากมี ผู้ให้บริการทำเว็บไซต์จะประเมินขอบเขตงานอย่างถูกต้อง

ข้อมูลที่ต้องส่งมอบและการดูแลเว็บไซต์หลังปิดงาน

  • ข้อมูลเข้าระบบจัดการหลังบ้าน: ต้องเช็คให้ชัวร์ว่าหลังจากจบงานแล้ว บริษัททำเว็บจะให้สิทธิ์อะไรบ้างในการจัดการเว็บไซต์ เช่นสิทธิ์ในการจัดการเนื้อหาเท่านั้น สิทธิ์แอดมิน เป็นต้น
  • การดูแลเว็บไซต์: ควรตรวจสอบกับผู้ให้บริการทำเว็บไซต์ว่าหลังจากส่งมอบงานแล้ว หากต้องมีการอัพเดทเนื้อหา จะเป็นฝ่ายใดเป็นคนรับผิดชอบ และรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ในส่วนนี้ควรตกลงกับผู้ให้บริการอย่างชัดเจน
  • ลิขสิทธิ์ของงาน: หากในงานมีการใช้งานธีม/ปลั๊กอินที่มีลิขสิทธิ์ (เช่นที่มีการต่ออายุเป็นรายปี เป็นต้น) หรือการนำภาพ/วีดีโอลิขสิทธิ์มาใช้ ควรติดตามกับผู้ให้บริการอย่างชัดเจนว่าได้มีการดำเนินการด้านลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง (เช่นซื้อมาจากเว็บ Stock เป็นต้น) เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องภายหลัง
  • ชื่อโดเมนเนม: จดไว้ที่ไหน และสามารถจัดการโดเมนได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
    • ตรงนี้ลูกค้าหลายท่านมีปัญหานี้กับผู้ให้บริการหลาย ๆ เจ้าที่จดโดเมนและถือสิทธิ์ไว้ เมื่อปิดการให้บริการหรือมีการเปลี่ยนแปลงกันภายในของบริษัทรับทำเว็บ ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงโดเมนเพื่อเข้าไปแก้ไข โอนย้ายเพื่อการปรับปรุงเว็บไซต์ได้ จึงทำให้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ หรือบางผู้ให้บริการไม่ยอมให้สิทธิ์ก็มี จึงควรตกลงให้ชัดเจนก่อนเริ่มงาน
  • เว็บโฮสติ้ง: สิทธิ์ของไฟล์เป็นอย่างไร สามารถเข้าถึงตัวเว็บโฮสติ้งได้แค่ไหน

สรุป

การเตรียมข้อมูลที่ดีถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย วางแผนเนื้อหา ไปจนถึงเตรียมข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานร่วมกับบริษัททำเว็บไซต์เป็นไปอย่างราบรื่น และได้ผลลัพธ์ตรงตามที่คาดหวังในที่สุด