หากคุณอยากทำเว็บไซต์ หรือหาบทความที่สอนการทำเว็บไซต์ที่ละขั้นตอนสำหรับมือใหม่ ทำตามบทความนี้ได้เลยนะครับ เพราะการทำเว็บไซต์ เหมือนการสร้างบ้าน หรือสร้างอาคาร ถ้าโครงสร้างดี มีการวางแผนที่ดี ปัญหาหรืออุปสรรคที่เจอในขณะทำจะน้อยลงครับ
ในบทความนี้ผมจะสอนทำเว็บไซต์โดยการ Breakdown การทำเว็บให้ดู ง่ายที่สุด เป็นขั้นเป็นตอนที่สุดครับ โดยผมแบ่งเป็น 5 Phase ด้วยกันในการเริ่มทำเว็บไซต์ ดูได้ตามสารบัญเลยนะครับ
1. วางแผนทำเว็บไซต์ 3 ข้อ
ก่อนอื่นเลยครับ ถ้าอยากทำเว็บไซต์สัก 1 เว็บไซต์ ต้องมาวางแผนกันก่อนครับ ผมมีเทคนิคง่าย ๆ ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์ 3 ข้อครับ เดี๋ยวเริ่มกันเลย
ทำเว็บไซต์ “อะไร”?
ปัจจุบันเว็บไซต์มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายประเภท มากมายเลยครับ และแต่ละแนวมีแนวทางการสร้างรายได้ไม่เหมือนกันด้วยครับ เดี๋ยวเราลองมาดูดีกว่าว่ามีแนวไหนบ้างครับ ที่น่าทำ
- เว็บบล็อก หรือเว็บบทความ ผู้คนมากมายจริง ๆ ครับที่ชอบทำงานเขียน ไม่ว่าจะเขียนบทความทั่วไป บทความความรู้ บทความรีวิวโน่นนี่นั่น (ปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก ๆ) เป็นทั้งความสุขและสามารถทำเป็น Content Marketing ได้ด้วย แต่บางทีแล้วการเขียนบทความลงแพล็ตฟอร์มที่เป็นที่นิยมอย่างมากเช่น Facebook ไม่กี่วันก็เลื่อนหายแล้วก็หากันไม่เจอแล้วครับ หรืออาจมีข้อจำกัด เช่นแทรกรูปเข้าไประหว่างบทความไม่ได้ หรือบทความเขียนแล้วก็หายไปตามอัลกอริทึมของ Facebook เว็บไซต์สามารถทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ได้ครับ
- E-Commerce หรือเว็บขายสินค้าออนไลน์ ก็เป็นที่นิยมขึ้นอย่างมากในยุคนี้ครับ คนเริ่มสนใจในการเปิดร้านค้าออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงคนที่เซิร์ชไปมาให้ได้มากขึ้นครับ เว็บไซต์ E-Commerce สามารถนำไปใช้ได้หลายหลาย เช่นประกอบกับธุรกิจปัจจุบัน ให้เป็นช่องทางที่คนสามารถสั่งซื้อได้เพิ่มเติมจากที่ต้องเข้าร้านมาซื้อ หรือนำไปยิงโฆษณาใน Facebook หรือ Google เป็นต้นครับ
- เว็บไซต์ธุรกิจ โปรไฟล์ ธุรกิจหลายหลายแขนงเริ่มนิยมหันมาทำเว็บไซต์สำหรับเป็นโปรไฟล์ออนไลน์กันมากขึ้นครับ ถึงแม้ว่าธุรกิจนั้นจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับออนไลน์เลย เช่นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ หรือธุรกิจรับก่อสร้างประมาณนั้นครับ ทั้งหมดเพื่อให้ธุรกิจตัวเองดูน่าเชื่อถือ ดูมีตัวตนจริง และเป็นโปรไฟล์ได้อย่างดีเลยครับ
- เว็บข่าว อันนี้ตรงตัวเลย ธุรกิจข่าวเกือบทุกสำนักมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองหมดเลย เพื่อให้ผู้คนเข้ามาอ่านข่าวได้ทุกที่ทุกเวลาและค้นดูข่าวเก่าได้หมดครับ
- เว็บขายคอร์สออนไลน์ ปัจจุบันก็เริ่มเป็นที่นิยมครับ ครูอาจารย์สามารถเปิดเว็บเพื่อที่จะให้ขายคอร์สได้ออนไลน์ ให้ผู้ที่สนใจเรียนเข้ามาซื้อและดูได้ทันทีครับ พร้อมจ่ายเงินและมีระบบอัตโนมัติช่วยผ่อนแรงมากมายไว้ช่วยงานให้ไวขึ้นครับ
ถ้าคิดออกแล้วว่าทำเว็บอะไร ไปดูข้อต่อไปครับ
ทำเว็บ “ให้ใครดู” ?
ใครคือกลุ่มเป้าหมายของเราครับ? ผู้ชายหรือผู้หญิง? เด็กหรือผู้ใหญ่? นักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยว? นั่นแหละครับคือกลุ่มเป้าหมายของเรา ถ้าตรงนี้ได้แล้ว เราจะได้ทำขึ้นตอนต่อไปนี้ได้ครับ
- เขียนคอนเทนต์ได้ถูก สมมุติว่าผมทำเว็บขายของเล่นเด็ก เน้นกลุ่มลูกค้าคือเด็ก เนื้อหาที่ผมเขียนก็อาจใช้ภาษาที่ Friendly กับผู้อ่านที่เป็นเด็ก แต่ในทางกลับกันหากผม เน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัท ภาษาที่ผมใช้ก็ต้องเป็นทางการ และดูมีความเป็นมืออาชีพ เป็นต้น
- ดีไซน์เว็บไซต์ได้ถูก ถ้ากรณีเดียวกับด้านบน เว็บไซต์เด็ก ดีไซน์ก็จะต้องดูมีลูกเล่น อาจใช้สีพาสเทลหรือสีอ่อน ๆ เพื่อให้เป็นมิตรกับเด็ก แต่หากเป็นบริษัท ผมก็จะต้องดีไซน์เว็บไซต์เน้นความน่าเชื่อถือเป็นหลัก การใช้โทนสีก็จะเน้นไปในโทนที่มองแล้วให้ความรู้สึกว่ามีความมั่นคง จริงจัง หรือต้องทำตาม Corporate Identity อย่างเคร่งครัด
อีกวิธีนึงที่จะทำให้คุณเห็นภาพมากขึ้น
- เว็บที่เป็น B2B (Business-to-Business) ถ้าทำเว็บ B2B โดยธรรมชาติคือสินค้าและบริการประเภทนี้กว่าจะขายได้ มีหลายขั้นตอนการตัดสินใจ = เว็บไซต์ต้องเน้นความน่าเชื่อถือ มีรายละเอียดสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ละเอียด เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
- เว็บที่เป็น B2C (Business-to-Consumer) ถ้าสินค้าและบริการของคุณเจาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อของแล้วจัดส่งเลย เช่นสินค้าทั่วไป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คอร์สเรียน เป็นต้น ลูกค้ามักจะซื้อของด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลครับ เพราะฉนั้นการทำเว็บให้กระตุ้นอารมณ์ลูกค้า และทำเว็บให้ใช้งานง่าย น่าเชื่อถือพอที่จะเกิดแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อ
ทำเว็บ “เพื่ออะไร”
ในข้อสุดท้าย เป็นข้อที่คนที่อยากมีเว็บโน่นนี่นั่นมองข้ามครับ ทำเว็บใครก็ทำได้ แต่ทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อแก้ปัญหาอะไรหรือเปล่า? โดยเฉพาะคำถามที่ว่า จะเอาไปใช้ยังไง? ถ้าตอบข้อนี้ไม่ได้ การลงทุนทำเว็บจะเสียเปล่าครับ
การทำเว็บต้องมี จุดประสงค์ ครับ
ยกตัวอย่างเช่น ผมมีร้านกาแฟร้านหนึ่ง มีโซเชียลมีเดียพร้อมให้คนเช็คอิน มีอาหารลง Grab และ Foodpanda ให้คนสั่ง มี Google Maps เพื่อให้ให้คนมาร้านได้ถูก ลงร้านในเว็บ Wongnai ให้คนมารีวิวแล้ว และอยากเปิดเว็บไซต์เพิ่ม… ผมทำไปทำไมครับ?
ผมก็อาจให้เว็บไซต์ผมมีหน้าที่ของมันครับ ยกตัวอย่างเช่นผมอาจให้เว็บไซต์ของร้านกาแฟของผมเป็นที่จองที่นั่งออนไลน์ เพื่อให้คนที่อยากจองโต๊ะในวันและเวลาที่ต้องการได้จองด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ หรือสามารถดูบรรยากาศร้านแบบ 360 ได้ และที่สำคัญคือเป็นศูนย์รวมข้อมูลสำหรับธุรกิจผมครับ ในเว็บไซต์ผมจะรวม Link Social Media ที่มี เขียนกำกับว่าสั่งอาหารผ่าน Grab หรือ Foodpanda ได้ มี Google Maps มีลิ้งค์รีวิวไปที่เว็บ Wongmai แบบนี้ครับคือการทำให้เว็บไซต์มีจุดเด่น และคุ้มค่ากับการลงทุนครับ
ข้อนี้จึงสำคัญมากที่จะต้องตอบให้ได้ครับ ถ้าตอบ 3 ข้อนี้ได้ การทำเว็บไซต์จะ ง่ายยยยย ขึ้นเยอะเลยครับ พูดตรงๆ
2. จดทะเบียนโดเมนเนม
โดเมนเนมคืออะไร?? โดเมนเนมก็คือชื่อที่อยู่เว็บไซต์นั่นเองครับ ตัวอย่างเช่น google.com หรือ facebook.com นั่นเอง โดเมนเนมเปรียบเสมือนป้ายทะเบียนรถครับ มันสามารถระบุตัวตนรถได้ว่าใครเป็นเจ้าของ เดินหาในที่จอดรถได้ถูก และที่สำคัญ หากมีเงินมากพอสามารถซื้อป้ายทะเบียนหรูๆ เพื่อได้ชื่อสวยๆ ได้ครับ
ขั้นตอนการจดโดเมน
- นั่งคิดชื่อให้แน่นอน เพราะจดโดเมนแล้วแก้ไม่ได้ยกเว้นจดใหม่และเสียเงินใหม่
- หาที่จดโดเมนที่เชื่อถือได้
- เช็คว่าโดเมนที่ต้องการ ชื่อซ้ำหรือเปล่า หรือจดได้หรือเปล่า
- กรอกข้อมูและจดโดเมนได้เลยครับ ง่าย ๆ แค่นี้เลยครับ
เทคนิคการจดโดเมน
- .com เสมอ เพราะถ้าคุณนึกดอทอะไรไม่ออก คุณคิดถึงดอทอะไรครับ… ผู้ชมเว็บก็คิดถึงดอทนั้นเหมือนกัน
- ถ้าโดเมนมีเรื่องของภาษาอังกฤษที่เป็นพหุพจน์เข้ามาเกี่ยวด้วย ให้ระวัง เช่น คำนั้นมีการเติม s ด้วย ผู้ชมอาจไม่รู้ว่าต้องเติมหรือไม่ต้องเติม ให้จดเป็น 2 โดเมนแล้ว Redirect อันหนึ่งมาที่อันที่ต้องการ
- ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Resellerspanel เว็บไซต์ให้บริการจดโดเมนและเว็บโฮสติ้งเจ้าหนึ่งของต่างประเทศ จดชื่อ resellerspanel.com และ resellerpanel.com เพื่อกันคนไม่รู้ว่าต้องเติม s หรือเปล่า
- สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ ยิ่งยาวคนยิ่งจำไม่ได้ หรือขี้เกียจพิมพ์นะครับ
- พยายามอย่าให้มี – ขั้นกลางหรือมีตัวเลข เพื่อป้องกันความสับสน
สำหรับรายละเอียดเรื่องโดเมนเนมว่าควรจะจดยังไง อ่านบทความนี้ครับ
อ่านเพิ่มเติม: โดเมนเนม (Domain Name) คืออะไร และวิธีจดโดเมนเนมแบบง่าย ๆ ในไม่กี่ขั้นตอน
3. เช่าเว็บโฮสติ้ง
เรามีป้ายทะเบียนแล้วแล้ว จะเอาไปทำอะไรได้ถ้าไม่มีรถ ถูกไหมครับ? (จริงๆ ต้องซื้อรถก่อนถึงออกป้ายทะเบียนได้หรือเปล่า 🤣ในโลกเว็บไซต์สามารถทำอะไรก่อนก็ได้ครับ)
เว็บโฮสติ้งคือบริการฝากไฟล์บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ เพื่อให้ออนไลน์บนโลกอินเตอร์เน็ทครับ มีหลายรูปแบบให้เลือกมากมาย ทั้งแบบ Shared Hosting ที่ค่าบริการเป็นรายปี Cloud Server ที่ค่าบริการเป็นรายเดือน (เป็นที่นิยมมากในยุคนี้) หรือ Dedicated Server ที่เป็นการเช่าทั้งเซิร์ฟเวอร์เลยก็ได้ครับ
เปรียบเทียบเว็บโฮสติ้งเหมือนรถ เช่นกันครับ มีสเป็คหลายหลากให้เลือก มีทั้งตามการใช้งาน ประสิทธิภาพ ออฟชั่น และที่สำคัญศูนย์บริการเป็นเรื่องสำคัญครับ
ทั้งนี้ในขั้นตอนนี้มือใหม่อาจสงสัยว่า ต้องมีความรู้ในเรื่องเทคนิคหรือเปล่า? ต้องเซ็ตอัพเซิร์ฟเวอร์เองหรือเปล่า ? คำตอบคือไม่ต้องครับ ถ้าเริ่มทำเว็บ ไม่ได้ถึงขนาดต้องเข้าคุมทรัพยากรในระบบขั้นสูง ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของเซิร์ฟเวอร์ ทางผู้ให้บริการจะดำเนินการให้ทั้งหมดเลยครับ แต่สิ่งที่ควรจะรู้คือเว็บโฮสติ้งมีหน้าที่อะไร ใช้งานยังไง และมีอะไรบ้างครับ
สำหรับรายละเอียดเรื่องเว็บโฮสติ้งว่าควรจะเช่ายังไง อ่านบทความนี้ครับ
อ่านเพิ่มเติม: เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) คืออะไร และวิธีเช่าเว็บโฮสติ้งแบบง่าย ๆ ในไม่กี่ขั้นตอน
4. เลือกว่าจะทำเว็บไซต์ยังไง
ปัจจุบันมีแพล็ตฟอร์มมากมายครับที่ทำให้ขั้นตอนการทำเว็บง่ายยยยย โดยแทบไม่ต้องเขียนโค๊ดกันเลยทีเดียว เรามาดูกันครับมีแบบไหนบ้าง
เว็บสำเร็จรูป
เว็บไซต์สำเร็จรูป… ตามชื่อครับ โดยส่วนใหญ่แล้วเว็บไซต์สำเร็จรูปจะถูกพัฒนาโดยบริษัท เพื่อคนที่อยากได้เว็บไซต์ที่ง่าย ๆ ทำเองได้ง่าย และไม่ต้องเสียเวลาเช่าโฮสติ้งครับ เรามาดูข้อดีเสียกันดีกว่าครับ
ข้อดี
- ง่าย สะดวก
- มีทีมงานคอยช่วยเหลือหากมีปัญหา
- มีฟังค์ชั่นหลากหลาย
- ไม่จำเป็นต้องเช่าโฮสติ้งเอง
ข้อเสีย
- ถ้าผู้ให้บริการปิดตัว เว็บไซต์ก็ต้องปิดตามเช่นกัน และในกรณีส่วนใหญ่จะย้ายข้อมูลออกมาไม่ได้
- ผู้ให้บริการบางเจ้ามีทีมงานที่ไม่ดี ไม่เอาใจใส่ลูกค้า ซึ่งอาจมีปัญหาเวลาเว็บไซต์ต้องการจะขยับขยายหรือมีปัญหาด้านเทคนิค
- หากต้องการฟังค์ชั่นเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะต้องจ่ายเงิน และไม่สามารถ customize เพิ่มเติมเองได้หากทางผู้ให้บริการไม่มีให้
- บางเจ้าค่าบริการค่อนข้างสูง
Content Management System (CMS)
ระบบจัดการข้อมูล ไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมอะไรลงเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา แค่เช่าเว็บโฮสติ้งและติดตั้ง CMS ที่ต้องการก็สามารถเริ่มได้เลย
ที่สำคัญคือ CMS เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคนี้ เนื่องจากความง่ายของการปรับแต่ง ความหลากหลายของสคริปต์เสริมที่รองรับ เป็นต้น
WordPress คือ CMS ที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน คลิกเพื่ออ่านบทความ WordPress คืออะไร? ฉบับเข้าใจง่าย
ข้อดี
- ความง่ายและความยืดหยุ่นในการใช้งานคือจุดที่ทำให้ CMS แพร่หลายอย่างมาก กล่าวคือมีสคริปต์รองรับความต้องการมากมาย สามารถทำเป็นร้านค้าออนไลน์ก็ได้ เว็บจองโรงแรมก็ได้ หรือเว็บซื้อขายอสังหาฯ ก็ได้ ที่สำคัญคือมีสำเร็จรูปรองรับเยอะมาก
- ใช้งานง่าย และส่วนใหญ่ไม่ต้องเขียนโค๊ด
- เป็นเจ้าของ 100% ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สามารถเข้าไปปรับแต่งไฟล์ Source Code ได้
- เป็นทางเลือกที่ใช้ทุนน้อย ไม่มีรายเดือน ไม่มีรายปี (นอกจากค่าโดเมนโฮสติ้งที่ต้องจ่ายรายเดือน/ปีอยู่แล้ว)
- มีฐานผู้ใช้ที่กว้าง… มาก เพราะฉนั้นหากต้องการพัฒนาเพิ่มเติมหรือต้องการสอบถามข้อสงสัย สอบถามผู้ใช้ด้วยกันจะได้คำตอบเหมือนกัน ไม่ต้องรอทีมงานมาตอบปัญหา
ข้อเสีย
- ถึงแม้ว่าจะยืดหยุ่นในการพัฒนาอย่างมาก แต่หลายอย่างก็จะมีข้อจำกัดในการพัฒนา
- ต้องใช้เวลาในการศึกษาการใช้งาน
- ต้องอัพเดทสคริปต์อยู่บ่อย ๆ เพื่อให้ทันสมัย (เหมือนอัพเดทแอพในมือถือ)
- ใช้ทรัพยากรเครื่องเซิร์ฟเวอร์ค่อนข้างเยอะหากเว็บหนักขึ้น
ซอฟต์แวร์เขียนเว็บไซต์
ถ้าใครเคยเรียน Macromedia Dreamweaver หรือ Microsoft Frontpage (มีใครทันไหมครับ?) สมัยเรียน นั่นแหละครับคือวิธีการทำเว็บอย่างง่ายยุคก่อน ในยุคนี้ก็มีซอฟต์แวร์เช่น Adobe Dreamweaver ในการทำเว็บไซต์บนเครื่องคอมพิวเตอร์เราแล้วค่อยอัพโหลดขึ้นไปครับ แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้วครับ
ข้อดี
- หากอยากเรียนรู้ภาษา HTML, CSS, PHP, Javascript ถือเป็นเครื่องมือที่ดีมากครับ
- หากพัฒนาซอฟต์แวร์ภาษา HTML, CSS, PHP, Javascript มันช่วยให้งานง่ายขึ้น ตัวซอฟต์แวร์เขียนเว็บไซต์จะช่วยในเรื่องของการเดาโค๊ด การไฮไลท์โค๊ด และที่สำคัญคือช่วยให้มองเห็นภาพว่าพัฒนาแล้วจะออกมาเป็นยังไงครับ
- สามารถดูภาพรวมเว็บไซต์ได้ง่ายกว่า สามารถดูไฟล์โดยรวมได้ง่ายกว่า
ข้อเสีย
- สิ่งที่เห็นในโปรแกรมไม่ใช่สิ่งที่เวลาเปิดโปรแกรมเว็บบราวเซอร์แล้วจะเห็น การแสดงผลจะออกมาส่วนใหญ่แล้ว ไม่เหมือนกัน
- ต้องใช้เวลาในการศึกษาการใช้งานค่อนข้างมาก
- การเดาโค๊ดของโปรแกรมบางทีไม่ตอบโจทย์
- ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนที่อยากได้เว็บเพื่อใช้งานบางประเภท ที่ต้องซื้อซอฟต์แวร์ประเภทนี้ในการใช้งาน
เขียนเอง
ถ้าเขียนเองก็เหมือนก่อร่างสร้างบ้านเองเลยครับ เราในฐานะคนเขียนก็จะรู้ทุกซอกทุกมุมว่าอะไรอยู่ตรงไหน เราก็จะสามารถต่อเติม หรือทำอะไรอย่างที่เราอยากทำได้เลยครับ
จินตนาการต่อว่าคือ “บ้าน” ที่สร้างเองนะครับ
ข้อดี
- เราทำเอง สร้างเอง ใช้เอง ซ่อมเอง เรารู้ทุกอย่างครับว่าเราทำอะไรไว้ตรงไหน เราสามารถต่อเติมได้ตามที่ต้องการเลย
- หากจ้างนักพัฒนา เราสามารถกำหนดได้ว่าเราต้องการให้เว็บไซต์ทำอะไรได้บ้าง เป็นไปอย่างที่เราต้องการ
- ในปัจจุบันมี Framework มากมายให้ลดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์ที่ต้องการทำครับ
- ปัจจุบันมี Framework มากมายให้ทดลองเขียนครับ เช่น TailwindCSS, Astro, React ฯลฯ ที่เป็น Library ที่สามารถต่อยอดได้หลากหลายและเป็นอนาคตของการเขียนเว็บไซต์ที่สุดครับ
ข้อเสีย
- หากเกิดปัญหาต้องนั่งแก้ไขเอง หรือหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำและแก้ไขให้ครับ
- หากจ้างเขียนหรือพัฒนา ค่าบริการจะสูงกว่า และเสี่ยงกับการเจอนักพัฒนาที่ความสามารถไม่ถึงหรือทิ้งงาน
- อาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในอนาคต ถ้าไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้มากพอหรือเลือกใช้ Framework ที่ไม่ปลอดภัย
ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นกับความสะดวกและความจำเป็นของการทำเว็บแต่ละรูปแบบนะครับ ให้พิจารณาข้อดีข้อเสียก่อนเริ่มทำ จะเป็นการดีที่สุดครับ
5. วางแผนอนาคตของเว็บไซต์
ตอนนี้คุณรู้แล้วว่าจะทำเว็บไซต์อะไร ทำให้ใครและเพื่ออะไร จดโดเมนชื่ออะไร เว็บโฮสติ้งที่ไหนราคาเท่าไหร่ และทำด้วยอะไรแล้ว ตอนนี้มาถึงจุดที่สำคัญที่สุดครับ เราต้องวางแผนถึงอนาคตของมันแล้ว เพราะการทำเว็บไซต์ไม่ใช่แค่การทำแล้วจบครับ
วัดผลสถิติต่าง ๆ
ถ้าเรารู้ว่าใครคือ Audience หรือผู้ชมของเรา ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน อายุเท่าไหร่ เพศไหน อยู่ในหน้าเว็บของเรานานไหมหรือได้ซื้อของของเราไหม นั่นแหละครับคือกุญแจสำคัญในการทำการตลาด เครื่องมือที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ Google Analytics ครับ
ถ้าคุณไม่เคยใช้ Google Analytics ไม่ยากครับ Google มีคู่มือที่ค่อนข้างละเอียดให้ได้ลองอ่านแล้วทำตามกันครับ
ความเร็วของเว็บไซต์
ลองถามตัวเองดูครับว่าถ้าเราต้องการจะซื้อสินค้าชนิดนึง แล้วเข้าเว็บ แต่โหลดนานมาก จนแทบเข้าไม่ได้ … คุณทำยังไงครับ?
คุณอาจลองใช้เครื่องมืออย่าง Google Pagespeed Insights หรือ GTmetrix ในการวัดว่าเว็บคุณเร็วแค่ไหนได้นะครับ ที่สำคัญ Google นำเรื่องความเร็วมาเป็นส่วนในการจัดอันดับผลการค้นหาด้วยนะครับ แล้ว ผลการค้นหาคืออะไรล่ะ?
SEO / SEM
SEO = Search Engine Optimization การปรับเว็บไซต์ให้เข้ากับ Search Engine
Search Engine อย่าง Google เวลาเราเซิร์ชด้วยคำ หรือที่เรียกว่า Keyword ลงไปสักคำ มันมักจะขึ้นผลการค้นหาเรียง ๆ กันมาใช่ไหมครับ ไม่ใช่ว่า Google สุ่มขึ้นมาว่าเว็บไซต์ไหนอยู่ตรงไหน แต่เพราะ Google เรียงเว็บตามปัจจัยดังนี้ครับ
- เว็บต้องเข้าได้เร็ว
- โครงสร้าง SEO-Onpage ต้องได้
- Backlink หรือลิ้งค์ที่ต้องดีและมีคุณภาพ
- Mobile Friendly แสดงผลในมือถือต้องได้ UPDATE 2021 – การแสดงผลในมือถือต้องมาก่อน
- Social Connected เชื่อมต่อกับ Social Media
- เว็บไซต์ต้องออกแบบมาดี ใช้งานได้ดี UX ต้องดี
- มี Content ที่ดีและมีคุณภาพ
ถ้าเป็นเมื่อช่วงปี 2012-2015 แค่ยิง Backlink แค่นั้นก็มีผลแล้วครับ แต่ในยุคนี้ไม่ใช่ครับ
Google กำลังมองหาเว็บที่มีคุณภาพจริง ๆ ในผลการค้นหาครับ
SEM = Search Engine Marketing การทำการตลาดบน Search Engine (การยิงโฆษณา เป็นต้น)
การทำ SEM มีหลายแบบครับ แต่ที่นิยมใช้ที่สุดคือการนำเว็บไซต์ไปยิงโฆษณาครับ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เงิน และได้ผลในทันทีครับ เวลาผู้ชมเซิร์ชคีย์เวิร์ดที่เจ้าของเว็บไซต์ยิงโฆษณาเขาจะเจอในทันที อยู่ในอันดับไหนขึ้นกับหลายปัจจัยครับ
วิธีนี้ดีสำหรับคนที่ต้องการทำหน้า Sale Page หรือ Landing Page เพื่อเน้นดึงคนเข้ามาใช้บริการครับ ควบคู่ไปกับการทำ SEO เปล่า ๆ
สุดท้ายนี้…
ถ้าคุณวางแผนทำเว็บไซต์ตาม Guide นี้ครบทุกข้อ ผมกล้าการันตีเลยว่าการเดินทางการทำเว็บราบรื่นแน่นอนครับ ที่เหลือก็จะเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วครับ