ในการทำเว็บไซต์ WordPress สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือการเลือกหาปลั๊กอินมาใช้กับเว็บไซต์ เพื่อเสริมความสามารถของ WordPress ไปหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะทำให้เว็บ WordPress กลายเป็นเว็บขายของออนไลน์ หรือปรับปรุงเว็บไซต์ที่มี เป็นต้น
ในบทความนี้ผมจะแนะนำ Plugin สามัญประจำเว็บสำหรับการทำเว็บ WordPress ทั้งฟรีและเสียเงินนะครับ โดยปลั๊กอินทั้งหมดในนี้ผมใช้เองทุกตัว โดยเข้าใจข้อดีข้อเสียของมันต่างกัน และเลือกใช้ให้เหมาะกับโปรเจค โดยไม่มีการอวยนะครับ มาเริ่มกันเลย
ก่อนเลือกปลั๊กอิน… อย่าลงเยอะหลายตัวเกินไปนะครับ
ให้จินตนาการว่าการลง Plugin เหมือนการลง App ในมือถือ Smart Phone นะครับ ยิ่งลงเยอะมีโอกาสทำให้เว็บช้าได้ หรือปลั๊กอินที่มีฟังค์ชั่นที่ใกล้เคียงกัน ให้เลือกสักตัวที่ดี ๆ ไม่ลงหลาย ๆ อันให้ฟังค์ชั่นตีกันนะครับ อาจทำให้เกิดปัญหาได้
และที่สำคัญที่ผมแนะนำมือใหม่ที่ทำ WordPress ไม่ควร ลง Plugin หลาย ๆ สิบตัว แต่หยิบเอาส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ของปลั๊กอินนั้น ๆ มาใช้แค่นิดเดียวในเว็บครับ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ปลั๊กอินมักจะโหลดในทุกหน้าเพจ ทุกบทความ ต่อให้หน้านั้นไม่ได้ดึงมาใช้มันก้โหลดครับ ถ้าลงเยอะ ๆ มีโอกาสทำให้เว็บช้าได้และที่สำคัญ หากปลั๊กอินมีช่องโหว่ อาจทำให้เกิดโอกาสที่เว็บไซต์จะโดนแฮ็คได้ครับ
เพราะฉนั้นก่อนเลือก Plugin มาลงสักตัว ให้ลองดูว่า
- สามารถเขียนโค้ดหรือหาโค้ดมาทำงานแทนได้ไหม หากได้ ก็ไม่จำเป็นต้องลงปลั๊กอินเพิ่ม
- หาก Plugin นั้นเป็นส่วนขยายของ Page builder (เช่น Elementor ก็จะมี Essential Addons, Ultimate Addons, Crocoblocks) จะใช้ Widget อะไรบ้างของมัน หากเลือกใช้ก็ควรใช้แค่ของค่ายนั้นก็จะทำให้เว็บไม่หนักมากครับ หรือดูว่ามันมีตัวปิดเปิด Widget ตัวไหนไหมนะครับ
ถ้ารับทราบแล้ว เรามาเริ่มกันเลย…
ปลั๊กอินทำ SEO WordPress
Rank Math SEO (Free)
ปลั๊กอิน SEO ที่ส่วนตัวผมว่าครบเครื่องและทรงพลังที่สุดครับ โดยมีทั้งฟังค์ชั่นการทำ SEO Onpage เพื่อการทำอันดับเว็บไซต์ WordPress เครื่องมือทำ Sitemap XML, เครื่องมือสำหรับต่อ Google Analytics, Google Search Console และมีฟังค์ชั่นอื่น ๆ อีกมากมายในการ Audit Content ในหน้าเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าทรงพลังมากทีเดียว ใครทำเว็บไซต์ด้วย WordPress คือห้ามพลาด
👍 ข้อดี
- หลังติดตั้งระบบจะนำทางให้ติดตั้งได้ง่ายมาก ๆ พร้อมใช้ในไม่กี่นาที ไม่ต้องงม
- มีฟังค์ชั่นให้ทำ Schema Markup ให้ Google เข้าใจ Content ในบทความหรือหน้านั้น ๆ ได้ดีขึ้น
- ต่อ Google Analytics, Google Search Console ได้ง่ายมากๆ
- มีฟังค์ชั่น Tracking Performance ให้ดูอันดับหลังบ้าน (เวอร์ชั่นเสียเงิน)
👎 ข้อด้อย
- มือใหม่อาจงง ๆ เล็กน้อยว่าใช้ฟังค์ชั่นบางตัวอย่างไร
- ฟังค์ชั่นที่ Advance ขึ้นไปหน่อยอาจต้องมีความรู้เรื่อง SEO พอสมควร
- ต้องสมัครสมาชิก Rank Math เพื่อให้ได้ฟังค์ชั่นเสริม
- คะแนน SEO หลังบ้านจะประเมินโดยอิงมาตรฐานภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่นการนับอักขระเป็นต้น การใช้ภาษาไทยที่พิมพ์ไปความยาวไล่ๆ กัน จะทำให้คะแนนหลังบ้านได้น้อยกว่า (แต่ไม่ได้มีผลอะไรกับการทำอันดับ Google เพราะคะแนนนี้ใช้แค่อ้างอิงเป็น guideline หลังบ้านเท่านั้น)
Yoast SEO (Free)
ปลั๊กอินทำ SEO WordPress ที่มีคนติดตั้งมากที่สุดในโลกกว่า 10 ล้านเว็บไซต์ โดยมีฟังค์ชั่นการทำ SEO Onpage ครบครัน และการ Audit เนื้อหา ทำ Sitemap XML เชื่อมต่อ Google Analytics, Google Search Console และอื่น ๆ ได้คล้าย ๆ กับ Rank Math SEO เลย
👍 ข้อดี
- มี Integration เข้ากับ Plugin อื่น ๆ เช่น Elementor ได้ดี
- หลังติดตั้งระบบจะนำทางให้ติดตั้งได้ง่ายมาก ๆ พร้อมใช้ในไม่กี่นาที ไม่ต้องงม
- ต่อ Google Search Console ได้ง่าย
- มีฟังค์ชั่นให้ทำ Schema Markup ให้ Google เข้าใจ Content ในบทความหรือหน้านั้น ๆ ได้ดีขึ้น
👎 ข้อด้อย
- เวอร์ชั่นฟรีไม่ค่อยมีฟังค์ชั่นขั้นสูงให้ใช้ (แต่ใน Rank Math SEO มีฟรี เช่น รูป Default Social Image สำหรับแชร์ไปยัง Social Media อื่น ๆ)
- อาจทำให้เว็บใหญ่ ๆ ช้าได้
ปลั๊กอินความปลอดภัย Security
ผมแนะนำว่าให้ลงเมื่อจำเป็นนะครับ โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ทำเว็บ WordPress และมีการเก็บข้อมูลลูกค้า ตั้งแต่กรอกฟอร์ม สมัครงาน หรือ E-Commerce ครับ โดยปลั๊กอินพวกนี้จะเสริมความปลอดภัยเข้าไปและปิดช่องโหว่ WordPress ครับ แต่ทั้งนี้คนทำเว็บก็ควรมี Best Practice อยู่ประจำ ๆ นะครับ เช่นการเลือก Plugin ที่ดี การ Update Plugin/Theme ให้บ่อยครั้ง
Solid Security (iThemes Security)(Free)
ปลั๊กอินที่ครบครันในการสแกนหาปลั๊กอิน/ธีม WordPress ที่มีช่องโหว่ รวมถึงอุดช่องโหว่ของ WordPress ที่มีในจุดสำคัญ ๆ และมีฟังค์ชั่นเช็คไฟล์ที่ถูกเปลี่ยนและส่งไปในอีเมลให้ด้วยครับ และเสริมด้วยระบบ 2 Factor Authentication (2FA) ก่อนเข้าเว็บได้
👍 ข้อดี
- ติดตั้งง่าย มี Step บอกว่าต้องทำอะไรบ้าง
- มีระบบตรวจสอบว่า Theme/Plugin มีช่องโหว่อะไรเมื่อไหร่บ้าง
- มีระบบ Firewall
- มีฟังค์ชั่นการเปลี่ยน URL Login เข้า wp-login.php, ปิดส่วนที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ เช่นตัวแก้ไขไฟล์ Theme/Plugin หรือปิด XMLRPC และบล็อก IP ที่อันตราย เป็นต้น
- มีรายงานความปลอดภัย
- ไม่หนักเครื่องมาก เหมาะกับแทบทุกเว็บไซต์
👎 ข้อด้อย
- หลาย ๆ ฟีเจอร์ต้องซื้อตัว Pro (ถ้าเว็บใหญ่ผมแนะนำซื้อดีกว่าครับ)
- ไม่มีระบบ Scan Malware ในตัว
WordFence Security(Free)
ปลั๊กอินสแกนหา Malware และปกป้องเว็บไซต์ WordPress แบบครบวงจร ทั้งตั้งแต่ตัวไฟล์ WordPress, Theme, Plugin ที่ลง จนไปถึงการดู traffi ที่เข้าเว็บมาว่าอันตรายแค่ไหน และเสริมด้วยระบบ 2 Factor Authentication (2FA) ก่อนเข้าเว็บได้
👍 ข้อดี
- มีระบบสแกนหา Malware ในเว็บ และแจ้งว่าไฟล์ไหนติดมัลแวร์ หรือไฟล์ไหนน่าสงสัย รวมถึงสแกนแล้วเจอปลั๊กอิน/ธีมที่ไม่อัพเดทนานโดยผู้พัฒนาก็จะมีแจ้งด้วยเช่นกัน
- ติดตั้งง่าย มี Step บอกว่าต้องทำอะไรบ้าง
- มีระบบ Firewall ปรับได้หลายระดับมากๆ
- มีรายงานความปลอดภัย
👎 ข้อด้อย
- มีโอกาสที่จะหนัก Shared Hosting มาก ๆ
- การใช้งานอาจต้องเรียนรู้นิดหน่อย
ปลั๊กอินทำเว็บ WordPress ให้โหลดเร็ว (Performance)
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเพิ่มความเร็วเว็บ
จริงๆ แล้วความเร็ว WordPress เป็นเรื่องที่ต้องทำและปรับตั้งแต่ก่อนเว็บจะขึ้นเสียอีกนะครับ เพราะการเลือกใช้ Plugin/Theme สำหรับทำเว็บ WordPress หรือการบีบอัดรูป เลือกเว็บโฮสติ้ง ก็มีผลทั้งหมดครับ มีมือใหม่หลายคนที่เข้าใจว่ามี Plugin พวกนี้ลงไปปั๊บ ความเร็วจะพุ่งขึ้นทันทีครับ ให้มองพวกนี้ว่าเป็นเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหารดีกว่าครับ ถ้าอาหารอร่อย ก็ไม่ต้องปรุงเยอะก็อร่อยได้ แต่ถ้าอาหารไม่อร่อยตั้งแต่แรก ปรุงให้อร่อยยังไงก็ยากครับ
FlyingPress (เสียเงิน)
เป็น Plugin เพิ่มความเร็วเว็บทั่วไปที่ผมว่าดีที่สุดแล้วครับ โดยที่จะมีการบีบอัดไฟล์ทั้ง CSS, JS, ทำแคช (Cache), Link Preloading, Optimize Database ต่าง ๆ ได้ดีมากครับ
👍 ข้อดี
- ไม่ต้องปรับอะไรหรือ Technical มากก็ทำให้เว็บเร็วขึ้นได้ โดยหน้าเว็บไม่เละครับ
- ปลั๊กอินเบา และ Interface เข้าใจง่ายมาก
- Layout Shift น้อย (หน้าตาเว็บช่วงโหลดไม่โดดไปโดดมาเยอะ)
- เข้ากันได้กับเกือบทุก Web Hosting
- เข้ากับระบบ WooCommerce ได้ดีโดยแทบไม่ต้องทำอะไร
👎 ข้อด้อย
- ไม่มี Version Free ให้ทดลองใช้
- ต่อระบบภายนอกแทบไม่ได้ ต้องลง Plugin เสริม เช่นบีบอัดรูปภาพ หรือต่อ Cloudflare API เป็นต้น
WP Rocket (เสียเงิน)
ปลั๊กอินปรับความเร็วเว็บ WordPress ยอดนิยม โดยมีฟังค์ชั่นครบและต่อ Integration กับภายนอกได้เป็นอย่างดี และมีฟังค์ชั่นทั่วไปที่ทำงานได้ดีเช่นกัน เช่น การบีบอัดไฟล์ทั้ง CSS, JS, ทำแคช (Cache), Link Preloading, Optimize Database
👍 ข้อดี
- Interface เข้าใจง่าย ถึงแม้จะมีให้ปรับเยอะแต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก
- เข้ากันได้กับเกือบทุก Web Hosting
- เข้ากับระบบ WooCommerce ได้ดีโดยแทบไม่ต้องทำอะไร (ผมแนะนำมากกว่า FlyingPress ครับ สำหรับการทำ E-commerce)
- เชื่อมต่อระบบภายนอกได้ง่าย เช่นต่อ Cloudflare API ให้เว็บเร็วยิ่งกว่าก็ทำได้ง่าย หรือ หากใช้ Cloudways ระบบก็จะเข้าใจ Varnish Cache ที่ Cloudways ลงไว้อยู่
- มี Addons ปรับค่าเริ่มต้นของมันได้เกือบทุกส่วน อาจเป็นการลง Plugin หรือเขียนโค้ดเพิ่มเพื่อปรับบางอย่างได้สำหรับผู้ใช้งานที่เข้าใจระบบ WordPress
👎 ข้อด้อย
- ไม่มี Version Free ให้ทดลองใช้
- การ Cache บางทีทำให้โฮสเต็มได้สำหรับเว็บใหญ่
- บางครั้งการปรับแคชมากเกินไปทำให้หน้าเว็บช่วงโหลดเละได้
ปลั๊กอินทำเว็บไซต์ขายของ E-Commerce
WooCommerce(Free)
ปลั๊กอินทำเว็บไซต์ขายของออนไลน์ E-Commerce ที่ทรงพลังที่สุดในโลกอันนึงครับ โดยมีฟังค์ชั่นการใช้งาน คลิกลากลงตะกร้าสินค้า สั่งซื้อชำระเงินได้ครบถ้วน แถมมี Community ที่ใหญ่มาก มี Addons ให้ใช้เยอะ ปรับแต่งได้หลากหลาย เข้ากับ Payment Gateway ได้แทบทุกเจ้า ทำให้เป็น Option นึงที่เหมาะกับการทำเว็บขายของออนไลน์ด้วย WordPress เลยครับ
👍 ข้อดี
- ปรับแต่งได้หลากหลายมากๆ โดยมี Hook ให้เขียนหรือปรับฟังค์ชั่นได้หมด หรือจะลง Addons เข้าไปก็ได้เช่นกัน โดยมีให้เลือกมหาศาล
- มี Theme/Plugins รองรับมหาศาล
- รองรับ Payment Gateway แทบทุกเจ้า โดยพวกเขาแทบจะมี Plugin มาให้หมดแล้ว (อ่านเพิ่ม: ตัวอย่าง Payment Gateway ในไทย)
- ขยับขยายได้ดี สินค้าพันชิ้นหรือหมื่นชิ้น ปรับดีๆ ก็รอดได้
- Community ที่ใหญ่ยักษ์ ถามอะไรก็เจอคำตอบ
👎 ข้อด้อย
- มักจะมีปัญหาเรื่องของความเร็ว เพราะมันทำงานบน WordPress เป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อมีการลง Plugins Addons เข้าไปเสริมมันเยอะ ๆ เข้า
- WooCommerce เปล่า ๆ ทำอะไรได้ไม่ค่อยเต็มที่เท่าลงเพิ่ม
- Layout หน้า Checkout ไม่ค่อยสร้าง Conversion เท่าที่ควร (ลง Plugin ปรับได้ครับ WooCommerce ที่ให้มาเป็นโครงเปล่าๆ เสียมากกว่า)
- อยากได้ระบบอะไรต้องพึ่งพา Addons เป็นส่วนใหญ่ หาก Addons เลิกพัฒนา การปรับตัวก็มีปัญหาได้เช่นกัน
- สินค้าหลักพันหรือหลักหมื่นชิ้นขึ้นไป หรือการสั่งซื้อในปริมาณมากๆ (ต่อนาที เป็นต้น) ต้องใช้ Developer ที่มีประสบการณ์มาปรับให้รองรับ
ปลั๊กอินสร้างแบบฟอร์ม
Fluent Forms (Free)
เป็นปลั๊กอินสร้างฟอร์มที่ดีมาก ๆ และเชื่อมต่อได้หลากหลาย ใช้งานง่ายโหลดเร็วมากครับ
👍 ข้อดี
- มีระบบการทำ Drag and Drop และ Interface โดยรวมใช้งานได้ง่ายมาก
- หากใช้ Elementor สามารถปรับหน้าตาได้ใน Elementor เลย
- ใช้เก็บ Lead ได้เป็นอย่างดี และต่อท่อไปยังเครื่องมืออื่น ๆ เช่น CRM, Google Sheet, E-Mail Marketing ได้ (บางอย่างอาจต้องเป็นตัวเสียเงิน)
- มีรายงานการใช้งานฟอร์ม การกรอก
- มีปลั๊กอินเสริมสำหรับการส่งอีเมล
👎 ข้อด้อย
- การปรับแต่งหน้าตาบางอย่างอาจทำไม่ได้แบบไร้ขีดจำกัดผ่านหลังบ้าน
ปลั๊กอินทำหน้าตาเว็บไซต์ (Page Builder)
Bricks Builder (เสียเงิน)
Bricks จริงๆ แล้วไม่ใช่ Plugin แต่เป็น Theme ที่ฟังค์ชั่นเป็นระบบสำหรับทำเว็บไซต์ WordPress ในรูปแบบ Visual Site Builder ลากวางให้เป็นหน้าเว็บ ไม่ว่าคุณจะออกแบบเว็บไซต์แบบไหน โดยปรับได้ทุกส่วนและปรับได้อย่างละเอียด เหมาะกับทั้งผู้พัฒนาเว็บที่อยากคุมทุกส่วนในเว็บไซต์ โดยทำได้แทบทั้งหมดและทำได้อย่างละเอียดโดยไม่ต้องโค้ดเพิ่ม ที่สำคัญคือเร็วและเบามากกกกกกก ครับ อยากทำเว็บบริษัท เว็บองค์กร หรือเว็บส่วนตัวให้เร็ว ๆ ใช้ Bricks ได้เลย
👍 ข้อดี
- หากคุณมีพื้นฐาน CSS และ HTML ปลั๊กอินนี้เหมาะกับคุณมาก ๆ เพราะทำให้คุณตัดงานได้ละเอียด
- เร็วมาก ๆ และเบามาก ๆ แทบไม่ต้องลง WP Rocket หรือ FlyingPress ก็เร็วแล้ว
- โค้ดที่ออกมาเป็นระเบียบเรียบร้อย
- มี Template ให้เลือกใช้งานมากมาย และ Addons มากมาย
👎 ข้อด้อย
- ไม่มี Version ฟรี
- มือใหม่เพิ่งเริ่มทำเว็บไซต์อาจงง ๆ กับ Interface และต้องใช้เวลาการเรียนรู้พักนึงถึงจะเข้าใจ
- Integration กับ Plugin อื่น และ Template/Addons มีสู้ Elementor ไม่ได้
- บางองค์ประกอบมี Limitation ต่างกันไป
Elementor (Free)
ปลั๊กอินทำเว็บไซต์ยอดฮิตในหมู่คนทำเว็บ WordPress โดยมีการใช้งานมากกว่า 10 ล้านเว็บไซต์ในปัจจุบัน ด้วยความง่ายในการใช้งานและเหมาะกับการทำเว็บไซต์แทบทุกประเภท บวกกับการที่มี Developer เจ้าอื่นเขียน Addons มาเสริมพลังที่แทบจะทำได้ทุกอย่าง ทำให้ Elementor เป็นเครื่องมือทำเว็บที่ได้รับความนิยมแทบจะสูงที่สุดในโลกเลยทีเดียว โดยมีตั้งแต่ Version Free และ Version Pro
👍 ข้อดี
- มือใหม่ก็ใช้ได้ไม่ยากเลย หรือคนที่ทำเว็บและอยากได้ดีไซน์ตามที่ดีไซน์ไว้ใน Figma หรืออื่น ๆ
- มี Widget, Template, Theme, Addons ให้ใช้อย่างมหาศาล
- Community ที่ใหญ่มาก ๆ มีปัญหาอะไร Search Google ก็เจอ หรืออยากเสริมระบบอะไรก็มีคำตอบแทบทั้งหมด
👎 ข้อด้อย
- เช่นเดียวกับ Page Builder ตัวอื่น ๆ บางองค์ประกอบมี Limitation ต่างกันไป
- ปัญหาใหญ่ที่สุดของ Elementor คือเรื่องความเร็ว เพราะระบบ Output Code ออกมาได้ใหญ่และบวมมาก ทำให้เว็บไซต์มีโอกาสช้าได้สูง (แต่ปรับได้ครับ ลองอ่านบทความ: วิธีการทำเว็บไซต์ Elementor ให้โหลดเร็ว)
- ฟังค์ชั่นหลายๆ ตัวบังคับให้ซื้อ Elementor Pro (โฆษณาน่ารำคาญด้วยครับบางที)
GenerateBlocks/Kadence Blocks/Greenshift (Free)
ปลั๊กอิน 3 ตัวนี้เป็นระบบเสริมของระบบ Full Site Editing ของ WordPress รุ่นใหม่ ๆ (ซึ่งก็คือระบบเดียวกับ Gutenberg ที่ตอนลง WordPress มันลงติดมาให้ด้วยเป็นตัวจัดการบทความหรือหน้าครับ อันเดียวกัน) โดยทั้ง 3 ตัวนี้จะเสริมความสามารถในของระบบ Full Site Editing ให้ดีขึ้นครับ เช่นระบบ Column, Section การปรับขนาดรูป หรือเรื่อง Responsive ใช้งานหลายอุปกรณ์ จนไปถึงฟังค์ชั่นอื่น ๆ ที่ทำให้เว็บน่าสนใจมากขึ้นครับ
โดยให้เลือกสักตัวใดตัวนึงมาลองเทสดูก็ได้ครับ ผมส่วนตัวชอบทั้ง 3 ตัวพอๆ กัน แต่ใช้งานต่างกันเท่านั้นเองครับ
👍 ข้อดี
- ส่วนใหญ่แค่ Version Free ของตัวใดตัวนึงก็เพียงพอครับ
- ใช้งานกับ Theme เริ่มต้นของ WordPress ได้ดีมากครับ (แปลว่าเบามาก ๆ ได้เช่นกันครับ) จะได้ไม่ต้องลง Plugin ให้เยอะ ส่วนตัวผมเคยปิดงานแค่ Plugin เดียวมาแล้วครับ
👎 ข้อด้อย
- ถ้าคุณไม่ชอบ Gutenberg หรือระบบ Full Site Editing ของ WordPress คุณจะไม่ชอบเลย
- อาจต้องใช้เวลาการเรียนรู้การทำงานของมันพอสมควร
ปลั๊กอินปุ่มแชท ติดต่อไปยัง Social Media
Chaty
ปลั๊กอินครบครันสำหรับปุ่มแสดงช่องทางการติดต่อในหน้าเว็บ หรือปุ่มแชทนั่นเอง โดยระบบจะแสดงช่องทางการติดต่อที่ต้องการ แสดง Icon และจะลอยตามการเลื่อนของหน้าเว็บ ติดตาผู้ชมไปตลอด ให้ผู้ชมคลิกเพื่อติดต่อผ่านช่องทางนั้น ๆ ผ่านหัวมุมเว็บ หากทำเว็บไซต์แล้ว อย่าลืมฟังค์ชั่นนี้นะครับ คนจะได้ติดต่อได้ง่ายขึ้น นึกไม่ออกให้มองขวามือล่างเว็บนะครับ นั่นเลยครับ Chaty
* ไม่ใช่การคุยสดผ่านหน้าเว็บนะครับ
👍 ข้อดี
- ใส่ได้หมด ไม่ว่าจะเป็น Line, เบอร์โทร อีเมล Facebook เป็นต้น
- ปรับแต่งได้หลากหลาย
- Track ผ่าน Google Analytics ได้ว่าคนคลิกเยอะไหม
👎 ข้อด้อย
- เวอร์ชั่นฟรีใส่ช่องทางการติดต่อที่ไม่มีใน List ที่ Plugin ให้มาได้จำกัด
ปลั๊กอินทำเว็บ 2 ภาษา
Polylang(Free)
ปลั๊กอินที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมามากๆ สำหรับการทำเว็บ 2 ภาษาครับ โดยคิดซะว่า 1 หน้าเพจ/บทความ = 1 ภาษา หากต้องการอีกภาษาหนึ่งก็แค่ Duplicate ไปเป็นอีกหน้าในอีกภาษา และลิ้งค์มันเข้าหากันได้ง่าย ๆ และแปะปุ่มเปลี่ยนภาษาได้เช่นในเมนูครับ เหมาะกับเว็บไซต์นิ่งๆ หรือเว็บไซต์ที่มีระบบแค่บทความหรือสมัครงาน เช่นเว็บบริษัท เป็นต้นครับ
👍 ข้อดี
- ตัวฟรีก็เพียงพอแล้วในแทบทุกงานที่เป็นเว็บนิ่ง ๆ ครับ
- เข้าได้กับ Theme แทบทุกตัว
- ใช้ได้กับ Elementor (ลง Connect Polylang for Elementor ด้วยก็ดีนะครับ)
- เบา และไม่มีฟังค์ชั่นเวอร์วังที่ไม่ได้ใช้
👎 ข้อด้อย
- ไม่มีระบบแปลอัตโนมัติ (ปกติก็ไม่ค่อยได้ใช้ไหมนะครับ 🤣)
- ฟังค์ชั่นขั้นสูง ๆ สำหรับเว็บที่เริ่มมีระบบซับซ้อน ต้องใช้ตัว Pro
WPML (เสียเงิน)
เป็นปลั๊กอินยอดนิยมสำหรับการแปลภาษาเช่นกันครับ แต่จะไม่เหมือน Polylang คือการที่ระบบถูกออกแบบมาให้เหมือนการแปลภาษาในองค์กรจริงๆ กล่าวคือมีบทความ/หน้าหลัก และมีการเพิ่มผู้แปลเข้าไปรับผิดชอบบทความ/หน้านั้น และมีการ Approve อีกทีนึงครับ
แต่ในการใช้งานจริงอาจไม่ต้องถึงขั้นนั้น อาจใช้งานคล้ายๆ แค่ Polylang ก็ได้ ก็คือมีหน้าเพจ/บทความนึง และแปลแค่ข้อความ ก็ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ
👍 ข้อดี
- เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นและซับซ้อน ปรับได้แทบทุกอย่างในระบบ
- มีระบบการแปลอัตโนมัติ (มี Quota)
- รองรับ Theme/Plugin อื่นที่มีระบบซับซ้อนได้เยอะมาก ๆ
- เหมาะกับเว็บที่มี Content ขนาดใหญ่หรือระบบที่ซับซ้อน
👎 ข้อด้อย
- ระบบใหญ่มาก และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจระบบและตั้งค่าพอสมควร
- ค่อนข้างหนักเว็บไซต์ในบางครั้ง
สรุป
ในการทำเว็บไซต์ WordPress ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เช่นเว็บบริษัท เว็บอสังหาริมทรัพย์ เว็บขายของออนไลน์ ปลั๊กอินเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเติบโตของเว็บไซต์ของคุณทั้งนั้น และการเลือกใช้ Plugin สักตัวนึงก็จะส่งผลกับการพัฒนาเว็บไซต์นั้น ๆ และการใช้งานไปตลอด แนะนำให้ทดลองใช้อย่างครบถ้วนก่อนนะครับ ไม่แบบนั้นหากมันเริ่มไม่ตอบโจทย์มาอาจมีผลกระทบได้ เช่นต้องแก้ไขเว็บไซต์ใหม่ หรือปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่
เลือกใช้ Plugin ให้น้อย ๆ และเท่าที่จำเป็นก็พอครับ อะไรที่ทำผ่าน Code ได้ก็ทำนะครับ
หมายเหตุ: ในบทความนี้ทุก ๆ ปลั๊กอินผมทดสอบและได้ใช้งานแบบมืออาชีพมาแล้วทั้งหมดนะครับ โดยเป็นการค้นคว้า ทดลองและสรุปผลมาหลายปี เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผมได้เขียนบทความดี ๆ แบบนี้อีก บาง Plugin เสียเงินผมจะแปะ Link Affiliateในบางลิ้งค์ซึ่งผมจะได้ส่วนแบ่งเล็กๆ น้อย ๆ จากการซื้อ โดยจะไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้ผู้อ่านนะครับ โดยคลิกซื้อปลั๊กอินได้ผ่านลิ้งค์นั้นเลยครับ ขอบคุณครับ